เรากำลังทำชีวิตให้เรียบง่าย พึ่งพาตนเองได้ ใช้และสร้างทรัพยากรที่มีอยู่รอบตัวให้พอดีกับตัวเอง เราขอเชิญคุณมาเรียนรู้และแลกเปลี่ยนกัน

วันจันทร์ที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2554

ชมรมสมุนไพรพื้นบ้านฯ ร่วมใจถวายภัตตาหารให้กับคณะธรรมยาตรา



เช้านี้เป็นเช้าวันที่ 6 ธันวาคม 2554 และถือเป็นการเดินธรรมยาตราลุ่มน้ำลำปะทาวเป็นวันที่ 6 ด้วย เมื่อคืนคณะธรรมยาตราพักค้างอยู่ที่วัดบ้านท่าทางเกวียน ต.ท่ามะไฟหวาน อ.แก้งคร้อ จ.ชัยภูมิ และได้ทำกิจกรรมเนื่องในวันพ่อแห่งชาติด้วย
เช้านี้...เราชาวชมรมสมุนไพรพื้นบ้านตำบลท่ามะไฟหวาน จึงได้ไปร่วมถวายภัตตาหารเช้าให้กับพระภิกษุสงฆ์และนักเดินธรรมยาตราร่วม 200 ชีวิต หลังจากคณะฯ ได้ฉันอาหารและรับประทานอาหารเช้าแล้ว จึงได้เดินขึ้นเขาภูกลางเพื่อไปบวชป่า ฉันมื้อเพลกลางป่าด้วย ซึ่งเส้นทางนี้ อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิ นายจรินทร์ จักกะพากได้เคยใช้เส้นทางนี้ขึ้นไปบวชป่าเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2554 ที่ผ่านมา


ธรรมยาตราลุ่มน้ำลำปะทาวคืออะไร
“ธรรมยาตราเพื่อฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติลุ่มน้ำลำปะทาว” เริ่มต้นครั้งแรกเมื่อปี ๒๕๔๓ ด้วยดำริของหลวงพ่อคำเขียน สุวณฺโณ เกิดขึ้นจากความสำนึกว่า ปัญหาความเสื่อมโทรมของธรรมชาติไม่อาจแก้ไขได้โดยรัฐบาลหรือหน่วยงานของรัฐเท่านั้น แต่ชาวบ้านจะต้องมีส่วนร่วมด้วยอย่างแข็งขัน การมีส่วนร่วมของชาวบ้านจะทำให้ธรรมชาติคงอยู่ได้อย่างยั่งยืน สิ่งนี้เกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อชาวบ้านตระหนักว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นปัญหาของเขาด้วย ไม่ใช่ปัญหารัฐบาลเท่านั้น…
11 ปีใต้ธงธรรมยาตรา ได้มีสื่อมวลชนจำนวนมากร่วมสร้างความตื่นตัวให้กับประชาชนหันมาสนใจเรื่องคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม เยาวชนจากโรงเรียนต่างๆ ได้ร่วมเดินและนำเอาฉากของภูมิประเทศ วิถีชีวิต วัฒนธรรมของคนในพื้นที่เป็นหนังสือเรียนของเขา ชาวบ้านในพื้นที่ตำบลท่ามะไฟหวาน ได้รื้อฟื้นองค์ความรู้เรื่องสมุนไพร การลดรายจ่ายด้วยภูมิปัญญาท้องถิ่น การศึกษาวิถีชีวิตเรื่องนกในลุ่มน้ำลำปะทาว การหารูปแบบกระบวนการเรียนการสอนภาษาไทยของนักเรียนช่วงชั้นที่ 1 ที่มีปัญหาอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ ด้วยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย ฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่น ที่มีอย่างต่อเนื่องให้กับชาวบ้านในพื้นที่และธรรมยาตรา ตลอดจนกิจกรรมการบวชป่าที่เกิดขึ้นในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2554 ที่ป่าภูกลาง และการทำแผนงานป่าชุมชนในพื้นที่ 2 ตำบลคือ ตำบลท่ามะไฟหวานและตำบลเก่าย่าดี จำนวน 6,000 ไร่ ล้วนเป็นภาพสะท้อนของการเอาใจใส่อย่างมากจากผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิและเจ้าหน้าที่ส่วนราชการทุกท่าน

วันอังคารที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

ชมรมสมุนไพรพื้นบ้านตำบลท่ามะไฟหวานทำค่ายสุขภาพตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง
มาแย้ว... ค่ายสุขภาพตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง เพิ่งผ่านไปสดๆ ร้อนๆ เมื่อ 13-17 ตุลาคม วิทยากรโดยอาจารย์ปางธาราไพร นราพงศ์พุทธ จัดขึ้นที่วัดภูเขาทอง หมู่ 11 ต.ท่ามะไฟหวาน อ.แก้งคร้อ จ.ชัยภูมิ งานนี้ชมรมเราได้งบจากองค์การบริหารส่วนตำบลท่ามะไฟหวาน และความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆ ในตำบล ไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลท่ามะไฟหวาน วัดป่าสุคะโต อาสาสมัครสาธารณสุขตำบลท่ามะไฟหวาน โรงเรียนบ้านกุดโง้งดงสวรรค์ ศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นจังหวัดชัยภูมิ ชมรมเด็กรักนก ...ความร่วมมือเพียบเลยค่ะ คนเข้าร่วมประมาณร้อยกว่าคน ผลการดำเนินงานเป็นอย่างไรบ้างจะเล่าความคืบหน้าใ้ห้อ่านอีกทีนะคะ เทียนน้ำใจ

วันอังคารที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2554

ฟื้นฟูศรัทธาต่อการรักษาโรคด้วยสมุนไพรพื้นบ้านของตำบลท่ามะไฟหวาน

ฟื้นฟูศรัทธาต่อการรักษาโรคด้วยสมุนไพรพื้นบ้านของตำบลท่ามะไฟหวาน

“ชิม บ่ ? แก้ท้องอืด กินคนละฝา กินแล้วจะหาย” แม่ชาลี วงศ์เสนา ชาวบ้านหมู่ที่ ๑๑ ต.ท่ามะไฟหวาน อ.แก้งคร้อ จ.ชัยภูมิ กำลังสาธยายสรรพคุณของยาธาตุเปลือกอบเชย พร้อมกับชักชวนให้ทดลองชิมยา ให้กับผู้ที่สนใจ ในขณะที่มาเป็นวิทยากร ฐานการเรียนรู้ภูมิปัญญาด้านสมุนไพร ให้กับกิจกรรมบรรพชาสามเณรและพรามจาริณีภาคฤดูร้อน ของวัดป่าสุคะโต ต.ท่ามะไฟหวาน ระหว่างวันที่ ๓๑ มีนาคม – ๔ เมษายน ๒๕๕๔

แต่เดิมนั้นแม่ชาลีรู้จักแต่ย่านาง เอามาทำแกง ใบเตย เอามาทำขนม เสลดพังพอนเอามาใส่แผลงูกัด แต่หลังจากที่ได้เข้าร่วมกิจกรรมกับ “โครงการฟื้นฟูศรัทธาต่อการรักษาโรคหวัดและโรคกระเพาะด้วยสมุนไพรพื้นบ้าน ตำบลท่ามะไฟหวาน อำเภอแก้งคร้อ จังหวัดชัยภูมิ” ซึ่งเป็นโครงการวิจัยที่ได้รับทุนจาก สกว. (ฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่น) ปี ๒๕๕๑ จนถึงปัจจุบันคือชมรมสมุนไพรพื้นบ้านตำบลท่ามะไฟหวานแล้ว แม่ชาลีรู้จักสมุนไพรมากขึ้นกว่าเดิม เช่น รางจืด ใบเตย ย่านาง ออมแซบ หญ้าปักกิ่ง พญาหญ้า ว่านหางช้าง ขมิ้นชัน ตลอดจนรู้จักวิธีการใช้เป็นอย่างดี

“หน้าใสขึ้น หน้าไม่ย่น มีคนทักหลายคน เพราะเอาดินสอพอง ถ่านไฟ น้ำกลั่นย่านางพอก
....โรคหัวใจ โรคใจสั่น ลิ้นหัวใจรั่ว เป็นมา ๒๐ ปี ปวดเอว ปวดขา ตั้งแต่ปี ๒๕๕๑-๒๕๕๒ นอนโรงพยาบาลบ่อย แต่เดี๋ยวนี้มีแต่ไปตรวจเช็คร่างกายแล้วก็กลับมาบ้าน เวลาที่ใจสั่นก็แค่ทายาหม่องที่ชมรมฯ ให้มา เอามาทาที่จมูก และขมับ นอนพักสักหน่อยก็หาย”

จนถึงวันนี้ ชมรมสมุนไพรพื้นบ้านตำบลท่ามะไฟหวาน ที่เกิดมาจากโครงการฟื้นฟูศรัทธาต่อการรักษาโรคหวัดและโรคกระเพาะฯ ยังคงดำเนินงานต่อไป ด้วยการเชิญชวนชาวบ้านมาทำปลูกสมุนไพรและทำยาด้วยกัน แล้วแบ่งปันกันไปใช้ ยาที่แบ่งไว้อีกส่วน นำไปขายเพื่อเป็นรายได้หมุนเวียนกลับมาทำกิจกรรมกลุ่ม

“แม่ได้เอาน้ำมันว่านมหาประสานที่ได้ทำด้วยกัน ไปทาให้หัวริดสีดวงให้กับพ่อบ้าน หัวริดสีดวงที่มันออกมาเป็นก้อนเท่านิ้วโป้งมันยุบหายไปเลยนะ” แม่แพงพัน นาพัว ชาวบ้านหมู่ ๑ ต.ท่ามะไฟหวาน หนึ่งในสมาชิกชมรมพูดด้วยความตื่นเต้น

“ยาที่ได้ไป แม่เอาไปแจกชาวบ้าน ผู้เฒ่าปวดขาก็เอาไปนวดให้เขา” แม่คำพลอย หล่มเพชร ชาวบ้านหมู่ ๑ ต.ท่ามะไฟหวาน ซึ่งเป็นสมาชิกคนหนึ่งบอกเล่าเรื่องราวของตน

นอกจากนี้ชมรมฯ ยังสนับสนุนให้สมาชิกได้มีหัวใจแบ่งปันหรือจิตอาสา ช่วยดูแลสุขภาพให้กับคณะเดินธรรมยาตราลุ่มน้ำลำปะทาวมา ๓ ปีแล้ว และสอนสามเณรทำยาทุกปี ตลอดจนโครงการอบรมการดูแลสุขภาพแนวเศรษฐกิจพอเพียง ตามหลักการแพทย์วิถีธรรม ที่กำลังจะเกิดขึ้นเป็นปีที่ ๒ ให้กับผู้คนทั่วสารทิศ ซึ่งเป็นโครงการความร่วมมือของ อบต.ท่ามะไฟหวาน และวัดป่าสุคะโต

คุณค่าการทำงานเหล่านี้มาจากหัวใจที่เปี่ยมด้วยความเมตตาที่มีต่อเพื่อนมนุษย์ แม้ไม่ได้มีค่าตอบแทนเป็นเงินตรา แต่ก็เป็นต้นแบบให้กับเพื่อนมนุษย์ได้เห็น “ศักยภาพในการพึ่งพาตนเอง” และที่เหนือไปกว่านั้นคือ “ความสามารถ” ในการเป็นที่พึ่งให้กับคนในครอบครัวและคนรอบข้างที่กำลังเจ็บป่วยอยู่ ณ ขณะนี้




โครงการอบรมการดูแลสุขภาพแนวเศรษฐกิจพอเพียง ตามหลักการแพทย์วิถีธรรม ปี ๒๕๕๓


ประชุมแบ่งงาน



รอแช่มือแช่เท้า



ทำโยคะยามเช้า



ทีมครู ก สาธิตการขูดคัวซา







อาจารย์ปางธาราไพร ชำกรม
วิทยากร อาจารย์ปางธาราไพร ชำกรม เมื่อปี ๒๕๕๐ อาจารย์เคยทำงานวิจัยโครงการวิจัยกระบวนการฟื้นฟูและดูแลสุขภาพของกลุ่มผู้ป่วยโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูงตามแนวทางการแพทย์ทางเลือกแบบพึ่งตนเอง บ้านนาหนองทุ่ม อ.แก้งคร้อ จ.ชัยภูมิ (สกว.ฝ่ายวิจัยท้องถิ่น) สิ่งที่ได้ค้นพบ คือการรักษาผู้ป่วยให้หายได้โดยไม่ใช้ยา แต่ใช้วิธีการปรับสมดุลร่างกาย ทำให้ผันตัวเองมาศึกษาค้นคว้าการแพทย์วิถีธรรมมากขึ้น และอุทิศตนทั้งชีวิตให้งานเผยแพร่ความรู้ในการดูแลสุขภาพให้กับผู้ป่วย




แม่ชีศรี
แม่ชีศรีแต่ก่อนเป็นมะเร็งลำไส้ ปัจจุบันหายแล้ว และยืนยันการรักษามะเร็งลำไส้ของตนโดยไม่ใช้เคมีบำบัด ไม่ผ่าตัด แต่ใช้วิธีของ “หมอเขียว” (การแพทย์วิถีธรรม) แม่ชีศรีมาช่วยเป็นคณะทำงานของโครงการอบรมฯ




แม่ชาลี วงศ์เสนา
แม่ชาลี วงศ์เสนา ชาวบ้านหมู่ ๑๑ ต.ท่ามะไฟหวาน อ.แก้งคร้อ จ.ชัยภูมิ เป็นโรคหัวใจ โรคใจสั่น ลิ้นหัวใจรั่ว ปวดเอว ปวดขา มา ๒๐ ปี ตั้งแต่ปี ๒๕๕๑-๒๕๕๒ นอนโรงพยาบาลบ่อย แต่เดี๋ยวนี้ไม่ต้องไปนอนโรงพยาบาลแล้ว มีแต่ไปตรวจเช็คร่างกายแล้วก็กลับมาบ้านเลย




แม่ชีหญิง วัดป่าสุคะโต เคยเป็นหวัดเยอรมัน แต่ได้รับการดูแลจากแม่ชีศรี รักษาหายกันที่วัดโดยไม่ได้กินยาซักเม็ด



คุณแม่ของน้องต้นน้ำและธารใส โรจน์เรืองไร ทดลองรักษาโรคหวัด โรคคออักเสบ กระเพาะอาหารอักเสบของลูกอยู่ที่บ้าน ด้วยหลักการแพทย์วิถีธรรม การแพทย์แผนไทย การแพทย์พื้นบ้าน ซึ่งค้นพบการรักษาโดยไม่ใช้ยาพาราเซตามอล ยาแก้อักเสบหรือยาลดน้ำมูก ที่ไม่ทำให้ลูกง่วง ซึม หรืององแง แต่เด็ก ๆ จะเล่น ซนได้เหมือนเดิม แม้ว่าจะใช้เวลารักษายาวนาน (๑-๒ สัปดาห์เนื่องจากการรับประทานของแสลงโรคบ้าง) พบว่าสุขภาพของเด็กๆ ดีขึ้น เป็นหวัดก็ไม่ค่อยมีไข้ เนื่องจากพอเห็นน้ำมูกลูก ก็คัวซา อาหารปรับสมดุล ทำยาสมุนไพรให้รับประทานทันที ทำให้อาการไข้ไม่รุนแรง และค่อยๆ หายเป็นปกติ นานๆ ทีจะได้พาลูกไปโรงพยาบาลฉีดวัคซีนหรือปรึกษาปัญหาสุขภาพที่คุณแม่ไม่รู้ ซึ่งเป็นการลดรายจ่ายภายในครัวเรือนอย่างมหาศาล
คุณตาของน้องต้นน้ำและธารใส ป่วยเป็นมะเร็งตับเมื่อปี ๒๕๕๒ คุณหมอแนะนำให้เปลี่ยนตับ เพราะเนื้อตับมีน้อยทำเคมีบำบัดไม่ได้ แต่สุดท้ายก็ไม่ต้องเปลี่ยนแถมค่ามะเร็งลดลงในเดือนมิถุนายน ๒๕๕๓ จนกระทั่งปัจจุบัน (เดือนมกราคม ๒๕๕๔) คุณหมอให้งดยาบางตัวที่เคยรับประทาน เพราะตับดีขึ้นมาก ทั้งนี้ต้องขอขอบคุณแนวทางการดูแลสุขภาพด้วยตนเอง (การแพทย์วิถีธรรม) และยาสมุนไพรไทย (ยาฝนพื้นบ้าน)

วันเสาร์ที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2554

คิดถึงจัง

ไม่ได้เข้าอัพเดทเสียนานเลย คิดถึงจัง ที่ผ่านมาชมรมสมุนไพรพื้นบ้านตำบลท่ามะไฟหวาน อ.แก้งคร้อ จ.ชัยภูมิของเรา ได้ผ่านงานมากมายแทบจะเป็นลม เลยไม่ค่อยว่างน่ะ มาดูกันเลยค่ะ

งานของเราเริ่มมาตั้งแต่วันที่ ๑๓-๑๗ ตุลาคม ๒๕๕๓ เราได้จัดโครงการอบรมการดูแลสุขภาพแนวเศรษฐกิจพอเพียง ตามหลักการแพทย์วิถีพุทธ (วิถีธรรม)วัดป่าสุคะโต จ.ชัยภูมิ ต่อด้วยวันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๕๓ เราจัดกิจกรรมบริการทางสุขภาพให้กับพ่อแม่พี่น้องที่มาเดินธรรมยาตราเพื่อลุ่มน้ำลำปะทาว จ.ชัยภูมิ แล้วพวกเราก็ทำยากันในวันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔ ทำยาน้ำมันว่านมหาประสาน และยาแก้ไอเสียงแคน สนุกดีค่ะ แล้วจะทยอยเล่าให้ฟังนะคะ

โครงการอบรมการดูแลสุขภาพแนวเศรษฐกิจพอเพียง ตามหลักการแพทย์วิถีพุทธ (วิถีธรรม)
๑. กิจกรรม
เป็นการเข้าค่ายสุขภาพ ๕ วัน ๔ คืน (๑๓-๑๗ ต.ค.๕๓) เพื่อเรียนรู้ที่จะเป็นหมอดูแลตนเอง ในการบำบัดอาการไม่สบายกายไม่สบายใจต่างๆ ด้วยตนเอง วิทยากร อาจารย์ปางธาราไพร เนื้อหาบรรยาย ยา ๙ เม็

๒. จำนวนกลุ่มเป้าหมาย / เกิดผลอย่างไร
ประมาณ ๙๐ –๑๕๐ คน ต่อวัน
จากการสุ่มตัวอย่างกลุ่มผู้ที่เข้าร่วมอบรม จำนวน ๔๒ ท่าน ได้รับผลดังนี้

ตารางแสดงผลการรักษาของกลุ่มอาการต่างๆ จำนวน ๔๒ ท่าน
ลำดับที่ กลุ่มอาการ จำนวนคน ดีขึ้น ไม่ดีขึ้น แย่ลง
๑. ปวดไมเกรน ปวดหัวประจำ ๕ /
๒. เสียงดังในหูน้ำในหูไม่เท่ากัน ๑ /
๓. ปวดจมูก ๑ /
๔. ปวดเมื่อยตามร่างกาย ๔ /
๕. นิ้วล็อค ๑ /
๖. เครียด ๒ /
๗. ร่างกายอ่อนแอ ป่วยง่าย ร้อนใน ๑ /
๘. ไอ ๑ /
๙. หอบ ถุงลมโป่งพอง หลอดลมตีบ ๑ /
๑๐. ภูมิแพ้ ไซนัส ไขมันในเลือดสูง ๑ /
๑๑ . ความดันโลหิตสูง ๒ /
๑๒. ไม่ได้ระบุอาการก่อนเข้าค่าย แต่หลังจากที่ได้เข้าค่ายแล้วมีสุขภาพกายใจที่ดีขึ้น ๒๒ /

จากตาราง ผู้ป่วยทุกกลุ่มอาการ หลังจากการเข้าค่ายแล้ว มีสุขภาพดีขึ้น อาการไม่สบายเนื้อตัว ลดลง รู้สึกเบากาย สบาย มีกำลังกันทุกคน ดังนั้นผลการรักษาจึงได้ผลเป็นที่น่าพอใจถึง ๑๐๐ %

๓. ความสำเร็จ
ความสำเร็จของโครงการดูความตั้งใจของผู้เข้าร่วมอบรม จากการสังเกตพบว่าทุกท่านได้ดื่มน้ำคลอโรฟิลล์ กวาซา ดีทอกซ์ แช่มือแช่เท้า หยอดตา หยอดหู ล้างจมูก พอก-ทา โยคะ อาหารปรับสมดุล ธรรมมะ ทำวัตร รู้พักรู้เพียร ดื่มน้ำปัสสาวะ และจากการแบ่งกลุ่มเพื่อเรียนรู้ฐานกิจกรรม พบว่าทุกท่านเข้ากลุ่มและให้ความร่วมมือในการทำงานเป็นอย่างดี
ตัวชี้วัดอีกประการหนึ่ง ผู้เข้าร่วมอบรมรู้สึกดีขึ้น อาการไม่สบายเนื้อตัวต่างๆ หายไป ยังสัญญาว่าจะกลับไปบ้านจะปฏิบัติตัวเช่นเดิม และยังอยากให้มีการจัดค่ายแบบนี้อีก นับว่าเป็นความภาคภูมิใจของคณะผู้จัดทุกคน

๔. ปัจจัย เงื่อนไขที่ทำให้สำเร็จ
กรณีศึกษา
๑. ผู้ป่วยแม่ชีสมศรี วัดป่าสุคะโต เป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่แต่หายด้วยวิธีการของการแพทย์วิถีพุทธ (วิถีธรรม)
๒. คุณวิจิตรา เดินแทบไม่ได้ มีการกระตุกคล้ายโรคพาคินสัน แต่อาการดีขึ้นแล้ว เดินได้และไม่กระตุก เพราะได้แม่ชีสมศรีและแม่ชีอื่นๆ ช่วยกันดูแล
๓. แม่ชีอัมพิกา เป็นโรคหัดเยอรมัน แต่ไม่ได้ไปหาหมอ เพราะแม่ชีด้วยกันที่วัดป่าสุคะโต ช่วยกันรักษาด้วยการแพทย์วิถีพุทธ (วิถีธรรม) รักษาหายในระยะเวลา๘ วัน
๔. กรณีศึกษาอื่นๆ ที่อาจารย์ปางธาราไพร นำมาถ่ายทอดผ่านการบรรยาย เช่น มะเร็งชนิดต่างๆ

วิทยากร
อาจารย์ปางธาราไพร อธิบายให้ผู้เข้าร่วมอบรมด้วยความสดชื่นแจ่มใส และเป็นกันเอง ทำให้ผู้เข้าอบรมมีความรู้สึกผ่อนคลาย นอกจากนี้ยังบรรยายอย่างละเอียดแจ่มชัด ทำให้ผู้เข้าร่วมเข้าใจเป็นอย่างดี

ความมีส่วนร่วม ระหว่างทีมครู ก และคณะทำงานในชุมชน ๕๐ – ๕๐
การที่อาจารย์ปางธาราไพรและทีมงานครู ก ได้วางนโยบายให้คณะทำงานในชุมชนมีส่วนร่วมในการทำงานนั้น ก็เพื่อวางรากฐานให้กับคนในชุมชนพึ่งพาตนเองได้ในอนาคต ซึ่งเป็นสิ่งที่ดี ทำให้มีบรรยากาศการทำงานอย่างมีส่วนร่วม สร้างสรรค์ ความเป็นพี่เป็นน้อง และความสมัครสมานสามัคคี

๕. สิ่งที่ยังไม่ได้ดั่งใจ เพราะอะไร จะแก้ไขอย่างไร
ทุกคนพยายามทำอย่างเต็มที่แล้ว ทุ่มเททั้งกายใจ หยาดเหงื่อแรงงาน กำลังทรัพย์/ปัจจัย สุดกำลัง สุดความสามารถ ด้วยความอดทน ด้วยความมุ่งมั่นและกล้าหาญ และไม่กลัวอุปสรรคต่างๆ ที่จะเข้ามา แม้ว่าไม่มีค่าจ้างค่าตอบแทนใด ๆ จากโครงการอบรมฯ ก็ไม่ได้หวั่นเกรงอะไร เพราะมีความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะทำให้ทุกคนได้เรียนรู้การพึ่งพาตนเองด้านสุขภาพ จึงไม่มีอะไรที่ไม่ได้ดั่งใจ แต่อาจมีสิ่งที่ต้องแก้ไขซึ่งมีมากมายบรรยายไม่หมด เช่น การลงทะเบียน การประเมินผล ฯลฯ แต่เราจะเอาไว้พูดถึงเมื่อจะต้องมีค่ายครั้งต่อไป

๖. สิ่งที่ไม่ได้คาดหวัง แต่เกิดขึ้น
การเติบโตของชมรมสมุนไพรพื้นบ้านตำบลท่ามะไฟหวาน
๑. แรงบันดาลใจ ไฟสร้างสรรค์ ที่เกิดจากสมาชิกชมรมฯ ได้เกิดขึ้น กล่าวคืออยากจะมีส่วนร่วมในการจัดค่ายสุขภาพครั้งต่อไป
๒. ทักษะความชำนาญในการผลิตยาเพื่อชุมชน แม้ว่าผู้ผลิตไม่ได้รับค่าตอบแทนมากนัก แต่ก็เพราะทำด้วยใจ เพราะการมัวคิดถึงแต่รางวัลค่าตอบแทน จะทำให้ชุมชนไม่เติบโต ชมรมฯ เราไม่ได้มีเงินทองอะไรมากนักกับการต่อสู้กับปัญหาความยากจนของชาวบ้าน ดังนั้นหากเราสามารถเสียสละเท่าที่เราทำได้ โดยไม่ทุกข์มากนัก ก็เป็นสิ่งที่ควรทำ ดังนั้นจึงทำให้มีผลิตภัณฑ์สมุนไพรฤทธิ์เย็นมากมาย เป็นภาพพจน์ที่ดีของชมรมสมุนไพรพื้นบ้านฯ และชาวตำบลท่ามะไฟหวาน
๓. ความร่วมมือของเครือข่ายการทำงาน ได้แก่ วัดป่าสุคะโต ศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น จ.ชัยภูมิ ชมรมเด็กรักนก โรงพยาบาลแก้งคร้อ สถานีอนามัยตำบลท่ามะไฟหวาน และชมรมสมุนไพรพื้นบ้านตำบลท่ามะไฟหวาน อบต. ขับเคลื่อนงานอย่างเป็นสุข แม้เหน็ดเหนื่อย เครียด แต่งานก็ประสบผลสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี

๗. ความคิด ความรู้ ทักษะที่ได้
ผู้เข้าร่วมอบรมสามารถเปลี่ยนแปลงความคิดที่ว่า สุขภาพเป็นเรื่องต้องพึ่งผู้อื่นมาเป็นการพึ่งตนเอง หลายคนต้องการจัดค่ายสุขภาพแบบนี้ในพื้นที่ของตนเองบ้าง เพราะเห็นว่าเป็นประโยชน์กับชาวบ้านอย่างแท้จริง

๘. แผนการทำงานต่อไป ทำอะไร เมื่อไร อย่างไร
เมื่อทุกคนต้องการให้มีค่ายครั้งต่อไป เราจึงวางแผนพัฒนาบุคลากรของชมรม โดยมีกิจกรรมเข้าวัดวันอาทิตย์ใกล้ชิดพระศาสนา เป็นเวทีฝึกทักษะให้กับสมาชิก โดยหลังจากที่ชมรมฯ ได้สรุปงานแล้ว ทุกวันอาทิตย์จะมีสมาชิกชมรมหมุนเวียนกันมาทำกิจกรรมแช่มือแช่เท้า ประคบ อบ พอก คัวซา ให้กับผู้มาทำบุญ หรือผู้ที่ต้องการเรียนรู้

โครงการอบรมการดูแลสุขภาพตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงนี้ ลำพังชมรมสมุนไพรพื้นบ้านฯ คงไม่สามารถทำได้ โดยเฉพาะการจัดค่ายได้ถึง ๕ วันและจัดขึ้นในพื้นที่บ้านเรานั้น เป็นสิ่งที่จะเกิดได้ยากมาก ส่วนใหญ่คุณหมอจะให้ไปเข้าอบรมที่สวนป่านาบุญ อ.ดอนตาล จ.มุกดาหาร แต่เพราะความร่วมมือของพวกเราทุกฝ่าย ดังสุภาษิตที่ว่า “น้ำช่วยกันหาบ หยาบช่วยกันดึง” โดยเฉพาะองค์กรภาคประชาชนมาช่วยเหลือประชาชนด้วยกัน ปัญหาของคนในชุมชน คนในชุมชนเรียนรู้ที่จะแก้ไขด้วยตนเอง นับเป็นความยั่งยืน พึ่งพาตนเองได้อย่างแท้จริง
ชมรมสมุนไพรฯ ขอขอบคุณทุกๆ ภาคส่วนอย่างยิ่ง เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้รับความร่วมมือจากท่านอีกเช่นเคยในโอกาสต่อไป

วันพฤหัสบดีที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2553

ปลูกข้าวครั้งที่๒ ของวิถีไท






๑๘ สิงหาคม ๒๕๕๓ เป็นวันสุดท้ายที่เราดำนาเสร็จ นาของเราแตกต่างจากนาของคนอื่นตรงที่ เราดำข้าวต้นเดียว เพราะว่าเคยมีงานวิจัยของศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นจังหวัดชัยภูมิ (สกว.ฝ่ายวิจัยท้องถิ่น) ว่าผลผลิตที่ได้ไม่ต่างจากการดำหลายต้น รับรองว่าจะรายงานผลให้ทราบเป็นระยะๆ ค่ะ อ้อ..เราปลูกข้าวประมาณ ๑ ไร่ เราคาดว่าผลผลิตจะทำให้เรามีข้าวทานเกือบตลอดทั้งปี นาเราเป็นนาข้าวปลอดสารพิษนะคะ อิจฉาอ๊ะเปล่า ฮิ ฮิ...

วันศุกร์ที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2553

จิตอาสาปลูกสมุนไพรให้ชุมชน








จากปี่ที่แล้วที่ได้มีการปลูกสมุนไพรของชุมชนรวมประมาณ ๘๐ ชนิด มาปีนี้ทางชมรมสมุนไพรพื้นบ้านตำบลท่ามะไฟหวาน อ.แก้งคร้อ จ.ชัยภูมิ จึงได้มีการปลูกเพิ่มเติม ทดแทนสมุนไพรต้นที่ตายไป

พวกเรานัดกันในวันที่ ๒๐ กรกฎาคม ๒๕๕๓ ที่ข้างวัดภูเขาทองอันเป็นที่ตั้งของสวนสมุนไพรพื้นบ้าน และเริ่มลงมือกันตั้งแต่เก้าโมงเช้า สมุนไพรที่เรานำไปปลูกรวมกว่า ๒๐๐ ต้น แยกเป็นชนิดได้ดังนี้ ว่านชักมดลูก เอ็นอ่อน กลิ้งกลางดง อ้อยดำ เบญจรงค์ ย่านางเขียว เตย พญาหญ้า โด่ไม่รู้ล้ม ฟ้าทะลายโจร เนียม มะรุม หนุมานประสานกาย ลิ้นงูเห่า พริกเครือ ผักแพวแดง ผักหวานบ้าน ฟักข้าว ว่านมหากาฬ พลูคาว ทับทิม ว่านสาวหลง

พวกเราแข็งขันกันมากเลยค่ะ เรียกว่าอายุมากแค่ไหน แต่ยังแรงไม่ตก ก็เพราะเรารับประทานสมุนไพรเป็นประจำน่ะซี เราหยุดพักกันในช่วงเวลาประมาณ ๑๑.๐๐ น. และได้แลกเปลี่ยนถึงความสำคัญของสมุนไพรแต่ละตัว เพราะบางคนก็ยังไม่รู้จักกิน ไม่รู้จักใช้ พวกเรารู้สึกมีความสุขมากๆ เลยค่ะ

อาหารกลางวันเรามีผักพื้นบ้านคือผัดผักกูด (ชาวบ้านเรียกผักกูดง่อง) ไก่อบเกลือสมุนไพร และตำบักหุ่ง (ส้มตำ) และอาหารพื้นบ้านอื่นๆ ที่ไม่มีผงชูรส แต่เลิศรสเพราะมาจากฝีมือบวกน้ำใจของสมาชิกชมรมฯ ทุกคน

หลังอาหารกลางวัน เราได้มีการบอกเล่าประชาสัมพันธ์ถึงกิจกรรมค่ายสุขภาพการแพทย์วิถีพุทธ ซึ่งจะจัดให้มีขึ้นในวันที่ ๑๓-๑๗ ตุลาคม ๒๕๕๓ ที่วัดป่าสุคะโต งานนี้เจ้าภาพเพียบ คนที่มีปัญหาสุขภาพเตรียมยิ้มกันได้เลย เพราะคุณหมอเขียว หรืออาจารย์ใจเพชร มาเป็นวิทยากรเองเลยทีเดียว ค่ารักษาไม่คิดค่ะ มีผู้ให้ความสนใจและสมัครเข้ามากันบ้างแล้วคือ
นายบัลลังก์ สงค์อุบล
นางแพงพัน นาพัว
นายสุรจิต ศรีมีงาม
นางวรรณวิมล นิลกำแหง
คุณแม่บุญมี ป้องขัน
อาจารย์วงเดือน

ก่อนกลับบ้านสมาชิกยังได้มีการแลกเปลี่ยนเมล็ดพันธุ์ผักพื้นบ้าน ได้แก่ กระเจี๊ยบ ฟักข้าว แถมยังได้ยาหยอดตาน้ำกลั่นย่านางและแคปซูลฟ้าทะลายโจรกันอีก
ก็มีความสุขกันประสาชาวไร่ชาวนา คนละเล็กคนละน้อย ก็ไม่รู้ว่าจะมีใครแอบอิจฉาพวกเราหรือเปล่า ฮิ ฮิ

วันจันทร์ที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

เอ็นอ่อนเพราะเถาเอ็นอ่อน

หายปวดหายเมื่อยได้ด้วยเถาเอ็นอ่อน




เคยไหมคะ ...ที่ตื่นขึ้นมาตอนเช้า จู่ๆ ก็ลุกไม่ขึ้น ทำงานไม่ได้ เพราะเส้นตึงร่างกายก็เมื่อยขบไปหมด

ถ้าเราไม่รู้อะไรเลย ก็จะต้องไปหาหมอ แต่แค่คิดก็ปวดเพิ่มขึ้นอีก เพราะต้องนั่งรถเป็นเวลานานๆ ในเมืองก็รถติด ต่างจังหวัดก็รถหวานเย็นกว่าจะถึงก็ต้องทนหน่อยนะ อะไรประมาณนี้ คิดๆ แล้วน่าจะเมื่อยหนักกว่าเดิม ...ลองไปถอนเถาเอ็นอ่อนมาต้มกินดีกว่า

หมอพื้นบ้านของตำบลท่ามะไฟหวาน แนะนำมานานแล้วว่า เถาเอ็นอ่อนเนี่ย แก้ปวดเมื่อยได้ดีชะมัด และให้ผสมเถาไมยราบทั้งต้นทั้งราก แค่ต้มในน้ำเดือดสัก ๕-๑๐ นาที แล้วดื่มแทนน้ำ

มีชาวบ้านที่บ้านท่ามะไฟหวานอยู่คนหนึ่งตื่นขึ้นมาตอนเช้า มีอาการเส้นตึงเดินไม่ได้ ตอนแรกจะไปให้หมอฉีดยาที่โรงพยาบาล แต่หลังจากได้ดื่มสมุนไพรชนิดนี้แล้ว ตกบ่ายอาการดีขึ้น พอตอนเย็นเดินได้เลย

ในตำราการแพทย์แผนไทย กองการประกอบโรคศิลปะ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้ข้อมูลว่าเถาเอ็น หรือเถาเมื่อยหรือเถาเอ็นอ่อน รสขมติดเมา มีสรรพคุณแก้เมื่อย แก้เส้นตึง บำรุงเส้นเอ็น

อาจารย์โกศล แดนตะโคตร์ให้ข้อมูลเกี่ยวกับเถาไมยราบว่าเป็นยาขับลมในเส้นเอ็น จึงเป็นยาที่ช่วยเสริมให้เถาเอ็นอ่อนมีประสิทธิภาพมากขึ้น

แม้จะมียาดีอย่างไรก็ตาม หากผู้ป่วยไม่ควบคุมอาหารของแสลงแล้ว จะทำให้หายช้าลง อาหารแสลงได้แก่อาหารฤทธิ์ร้อนต่างๆ เช่น ของหมักดอง เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ชา กาแฟ สิ่งเสพติดต่างๆ น้ำอัดลม ผงชูรส อาหารรสจัดทุกชนิด ขนมรสหวานๆ ผลไม้รสหวานจัด เช่นเงาะ ทุเรียน ลำไย เป็นต้น

ขอขอบคุณข้อมูลจากชมรมสมุนไพรพื้นบ้านตำบลท่ามะไฟหวาน